วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สร้างโอกาสให้ประเทศ? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On September 1, 2016

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

เรื่องหนึ่งที่ผมยอมรับว่าทำใจได้ยากเวลาคุยกับเพื่อนที่มีความเชื่อแตกต่างกันทางการเมืองก็คือ การยกย่องว่ารัฐบาลชุด คสช. สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความสุข และเศรษฐกิจของไทยกำลังไปได้สวย เนื่องจากความจริงที่ผมสัมผัสอยู่กับความเชื่อของเพื่อนผมช่างต่างกันอย่างลิบลับ จนบางครั้งก็แอบสงสัยว่าผมและเพื่อนอาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันหรือเปล่า?

ผมพยายามทำใจยอมรับแบบพบกันครึ่งทางเพื่อความปรองดองก็คือ เพื่อนผมอาจให้ความสำคัญกับความสงบเรียบร้อย ไม่วุ่นวายของบ้านเมือง มากกว่าสภาพย่ำแย่ทางเศรษฐกิจก็เป็นได้ ซึ่งกรณีนี้ผมเชื่อว่าคงมีคนเห็นด้วยอยู่จำนวนไม่น้อย แต่เรื่องที่จะให้เชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังเป็นขาขึ้นนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ปัญหาและความยากจนกระจายอยู่ในสังคมเต็มไปหมด

เศรษฐกิจตกต่ำต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะส่งผลกระทบกระเทือนต่อคนจำนวนมากของประเทศ และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งหากฝีไม้ลายมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. มีเพียงเท่านี้ เพราะขณะนี้มีหลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่าผ่านเข้าสู่ปีที่ 3 แล้วพี่น้องประชาชนจะทนอดอยากต่อไปได้อีกนานแค่ไหน?

แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือ ความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นไดนามิกส์ หากประเทศไทยยังขาดแผนการที่ชัดเจนในการรับมือกับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตย่อมส่งผลให้ชีวิตของคนไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มีอยู่มากมายในโอกาสข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีต้องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลให้เกิดการล่มสลายของธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก หากภาครัฐ ภาคเอกชนไม่ร่วมมือและช่วยกันเตรียมการอย่างเป็นระบบล่วงหน้า การปล่อยให้ธุรกิจล้มลงแบบตามมีตามเกิดย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชนเป็นวงกว้าง แม้ว่าวันนี้เราอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เหตุการณ์ที่บริษัทขนาดใหญ่ในต่างประเทศต้องปิดกิจการลงไปแล้วหลายบริษัทก็น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญที่รัฐบาลต้องเรียนรู้และเตรียมการเอาไว้ให้ดี

ยกตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ส่งออกที่นำเงินเข้าประเทศไทยปีละเป็นจำนวนมาก ขณะนี้แม้ยังมองเห็นภาพไม่ชัดว่าตลาดต่างประเทศมีความต้องการรถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือแก๊สเป็นเชื้อเพลิงในปริมาณที่ลดลง แต่การนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าออกมาบุกตลาดเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็พอจะเห็นแนวโน้มของโลกว่า อีกไม่นานบนท้องถนนคงจะมีรถยนต์พลังไฟฟ้าและรถยนต์พลังงานทางเลือกอื่นๆเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันรถยนต์ที่ใช้ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงก็จะต้องมีจำนวนลดลงและอาจหายไปจากท้องตลาดในที่สุด

เรื่องแบบนี้แหละที่ผมคิดว่าผู้มีอำนาจจะต้องเตรียมการเผชิญเหตุเอาไว้ให้พร้อม แม้ว่าภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการปรับตัว แต่ภาครัฐก็ต้องพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะ Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีแบบใหม่ที่จะเข้ามาทำลายล้างและแทนที่เทคโนโลยีแบบเก่าทั้งหมด ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้อาจส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบให้กับแต่ละประเทศได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว

ผมเชื่อมั่นว่าศักยภาพของประเทศไทยมีมากเป็นอันดับต้นๆของโลกในเรื่องของทรัพยากรและบุคลากร หากเราให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกและทำความเข้าใจกับเรื่องต่างๆอย่างถ่องแท้ เราย่อมมีความสามารถในการแสวงประโยชน์กับความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างมากมาย ซึ่งจะทำให้คนไทยได้ประโยชน์และหายจากความอดอยาก ดังนั้น ผมคิดว่าผู้มีอำนาจน่าจะใช้ความพยายามสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในเวทีโลกมากกว่าที่จะปิดหูปิดตาชัตดาวน์ประเทศและพยายามที่จะอยู่ในโลกนี้คนเดียวอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ผมเคยถามเพื่อนชาวต่างประเทศหลายคน ทั้งฝรั่ง จีน แขก หลายเชื้อชาติว่าชอบอะไรในประเทศไทยมากที่สุด หนึ่งในคำตอบที่ได้รับแทบจะทันทีเหมือนๆกันก็คือ อาหารหลากหลายประเภทที่ผลิตจากวัตถุดิบทรงคุณค่าของไทย ซึ่งพวกเขาหมายรวมไปถึงผัก ผลไม้ที่ปลอดจากสารพิษต่างๆด้วย

สาเหตุที่เขาชื่นชอบผลผลิตทางการเกษตรแบบออร์แกนิกของเราแม้ทุกคนจะต้องจ่ายแพงกว่าปรกติก็ตาม เป็นเพราะความต้องการของประชากรโลกในขณะนี้ให้ความสนใจและรักสุขภาพของตัวเองมากขึ้นกว่าสมัยก่อนหลายเท่า ดังนั้น เราจึงเห็นเกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบปลอดสารพิษทั้งหลายสามารถขายผลผลิตของเขาได้ในราคาสูง และผลิตออกมามากเท่าไรก็ยังไม่พอกับปริมาณความต้องการของตลาดที่มีสูงมากขึ้นทุกวัน

ผมสนทนากับเพื่อนชาวเกาหลีใต้ท่านหนึ่งเขาเล่าว่า เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เขาและชาวโสมขาวอีกจำนวนมากไม่รู้จักมะม่วงน้ำดอกไม้ของไทยเลย แต่เมื่อตอนที่นายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือนเกาหลีใต้ได้มีการนำมะม่วงน้ำดอกไม้ไปโปรโมตด้วย หลังจากนั้นชาวเกาหลีใต้ก็หลงใหลในรสชาติอันแสนอร่อยของผลไม้ไทยชนิดนี้

จากนั้นเป็นต้นมาเมื่อเข้าสู่หน้ามะม่วง เครื่องบินจากประเทศไทยที่มุ่งหน้าสู่ประเทศเกาหลีใต้จะพบว่าใต้ท้องเครื่องบินอัดแน่นไปด้วยมะม่วงน้ำดอกไม้ในทุกเที่ยวบินจนผู้บริโภคชาวไทยอดจะบ่นไม่ได้ เพราะต้องซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้รับประทานในราคาที่สูงขึ้น แต่แน่นอนว่าชาวสวนที่เป็นผู้ผลิตย่อมมีแต่รอยยิ้ม เพราะผลผลิตทั้งสวนถูกจองข้ามปีกันเลยทีเดียว

ที่ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังในสัปดาห์นี้เพราะผมมองเห็นโอกาสจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกที่สามารถสร้างความไม่แน่นอนให้กับการทำธุรกิจต่างๆ และก็ไม่รู้ว่าหวยจะไปออกที่ธุรกิจตัวไหนต่อไปในอนาคต เพราะจากที่ผ่านมาเราจะพบเสมอว่าธุรกิจที่เคยสร้างรายได้และสร้างความมั่นคงให้กับบริษัทในอดีตอาจไม่สามารถอยู่รอดเมื่อเผชิญกับความต้องการใหม่ของมนุษย์และการปรับเปลี่ยนไปของเทคโนโลยี

ที่แน่ๆมีธุรกิจที่สำคัญในประเทศไทยที่มีความแน่นอนและเปลี่ยนแปลงยาก นั่นก็คืออาชีพผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพป้อนให้กับลูกค้าทั่วโลก ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังต้องกินและเลือกกิน ตราบนั้นการผลิตในเชิงปริมาณก็จะไม่สำคัญอีกต่อไป แต่การผลิตเชิงคุณภาพจะเข้ามาแทนที่ และที่สำคัญก็คือ อาชีพเกษตรกรจะกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนมากที่สุด

ก่อนจบผมอยากเรียนทุกท่านว่า ผมฝันเห็นประเทศไทยในอนาคตเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าการเกษตรที่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยที่สุดในโลก และพื้นที่เพาะปลูกทุกตารางนิ้วของเราผลิตแต่ของที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ลูกค้าทั่วโลกต้องทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วยราคาที่ทุกฝ่ายพอใจ การทำการเกษตรกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับประเทศและเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยอยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งดีกว่าผลิตรองเท้าแตะขายอย่างแน่นอน…ฟันธง!


You must be logged in to post a comment Login